วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

วิธีป้องกันและกำจัดยุง

ยุงเป็นสัตว์ที่สร้างความรำคาญให้กับทุกบ้าน ทุกเพศทุกวัย และยังเป็นพาหะนำโรคร้ายแรงอีกหลายๆโรคด้วยนะคะ วันนี้เราจะมาดูว่า เราจะป้องกันและกำจัดยุงได้อย่างไรกันบ้าง โดยแบ่งเป็นประเภทที่ใช้สารเคมีหรือไฟฟ้าช็อต และไม่ใช้สารเคมีค่ะ

วิธีที่ต้องใช้ความระมัดระวัง เช่น ใช้สารเคมีหรือใช้ไฟฟ้าช็อต


  • ยาจุดกันยุง  เป็นวิธีที่ใช้กันมาช้านานแล้วนะคะ ซึ่งให้ผลไล่ยุงได้ดีมากๆเลยล่ะค่ะ มีงานวิจัยออกมาว่าการจุดยากันยุง 1 ขด มีผลเท่ากับควันจากบุหรี่ 50 มวน ดังนั้นข้อควรระวังในการใช้ ควรใช้ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวกเพื่อป้องกันอันตรายจากควันค่ะ


  • ครีมหรือสเปรย์กันยุง  ถือเป็นเกราะป้องกันยุงที่ดีเลยล่ะค่ะ แต่สเปรย์ส่วนใหญ่มักมีสารเคมีผสมด้วยเพื่อให้ได้ผลชะงัด ดังนั้นข้อควรระวังหลักๆเลยก็คือ ห้ามเข้า ตา ปาก หรือสัมผัสกับส่วนบอบบางของร่างกายค่ะ


  • ไม้ช็อตยุงหรือเครื่องดักยุงแบบช็อต  ไม่ช็อตยุงน่าจะกลายเป็นของสามัญประจำบ้านไปแล้วนะคะ เนื่องจากการกำจัดยุงแบบจู่โจมด้วยไม้ช็อตให้ผลที่เห็นทันตาเลยทีเดียว แต่ปัญหาก็คือพอหยิบไม้ขึ้นมาทีไร ยุงก็บินหนีหายไปทุกทีนี่สิคะ สำหรับเครื่องดักยุงแบบช็อตช่วยให้เราไม่ต้องตามหายุงให้เหนื่อย รอสักครู่เดี๋ยวยุงก็จะเข้ามาติดกับเอง แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้เป็นพิเศษค่ะ เพราะหากใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพอาจทำให้เราถูกไฟช็อตได้เลยนะคะ

วิธีที่ปลอดสารพิษ ไร้สารเคมี ใช้กับเด็กและผู้ป่วยได้

  • ตบ  เบสิคสุดๆไปเลยค่ะ ไม่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือให้สิ้นเปลืองเงินทอง แถมได้ออกกำลังกายไปในตัวด้วยนะคะ เพราะกว่าจะไล่เจ้ายุงตัวแสบทันก็คงหอบแฮ่กๆแล้วค่ะ

  • กางมุ้ง  วิธีนี้มีมาช้านานเหมือนกันค่ะ ได้ผลเกือบ 100% ถ้ายุงไม่มุดเข้ามาตอนที่เราเปิดมุ้งนะคะ แต่ปัญหาของวิธีนี้ก็คือรกรุงรังและไม่สวยงามค่ะ ทั้งยังต้องคอยกางแล้วก็เก็บอยู่ทุกๆวัน บางวันก็น่าขี้เกียจเหมือนกันนะคะ

  • กำจัดน้ำขัง  ยุงเป็นสัตว์ที่วางไข่ในน้ำ โดยเฉพาะแอ่งน้ำที่เน่าขัง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อับ มืด และอบอุ่น ซึ่งยุงจะรู้สึกปลอดภัยมาก ดังนั้นก็ควรสำรวจบริเวณรอบ ๆ บ้านของคุณเองว่า มีแอ่งน้ำขังอยู่ตรงบริเวณไหนบ้าง และหากพบก็จัดการเทน้ำที่ขังอยู่ทิ้งให้หมดเกลี้ยงไปซะดี ๆ จะได้ไม่มีที่ให้ยุงมาวางไข่นะคะ

  • ใช้เครื่องดักยุงไร้สารพิษ การใช้เครื่องดักยุงถือเป็นอีกวิธีที่ให้ผลชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรกเลยนะคะ ใช้กับเด็กหรือผู้ป่วยได้อีกด้วย แต่ด้วยจุดเด่นที่ไม่ใช้สารเคมีและไม่ใช้ระบบช็อต จึงมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่ 3-4 ข้อ หากสภาพแวดล้อมเหมาะสมและใช้งานถูกต้องแล้ว วิธีนี้ได้ผลดีเลยล่ะค่ะ 

  • รับประทานกระเทียมหรือพริกไทย  กระเทียมเป็นสมุนไพรกลิ่นฉุนที่ยุงไม่ปลื้มเอามาก ๆ ซึ่งก็แปลได้ว่าหากคุณกินกระเทียมเข้าไป ยุงก็จะไม่กล้าเข้ามาใกล้เพราะได้กลิ่นกระเทียมออกมาจากผิวของคุณ ห่างไกลการโดนยุงกัดได้ง่าย ๆ แถมยังได้ประโยชน์มากมายจากกระเทียมอีกต่างหากแต่ปริมาณที่รับประทานเข้าไปก็ต้องเยอะพอสมควรนะคะ

  • ปลูกต้นสะเดา  ต้นสะเดามีสรรพคุณในการไล่ยุงได้เต็มประสิทธิภาพกว่าสเปรย์ไล่ยุงหลายเท่าเลยค่ะ ทั้งต้นสะเดาสด ๆ หรือน้ำมันสกัดจากเมล็ดสะเดา ก็สามารถนำมาป้องกันยุงได้อยู่หมัดเลยเชียวล่ะ

  • หลีกเลี่ยงกลิ่นหอมอ่อนๆ  หากยุงไม่ได้กินเลือดจากคนหรือสัตว์บางชนิด เจ้ายุงเหล่านี้จะเลือกกินเกสรดอกไม้เป็นอาหารแทน ผู้เชี่ยวชาญจึงเตือนว่า ถ้าคุณไม่อยากตกเป็นเป้าหมายของฝูงยุง พยายามเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ให้กลิ่นหอมคล้ายดอกไม้จะดีกว่า เนื่องจากกลิ่นหอมคล้ายดอกไม้จะหอมหวนชวนกินมาก ๆ ในความคิดของยุงนั่นเองค่ะ



ทั้งหมดนี้เป็นเพียงวิธีแก้ไขเบื้องต้นเท่านั้นนะคะ สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ยุงก็ต่างชนิดกันไปด้วย ดังนั้นเพื่อให้ได้ผล 100 % คงต้องลองประยุกต์ใช้ให้เข้ากับตัวเองกันดูค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก Kapook.com ค่ะ

วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

เคยสงสัยกันมั้ย ทำไมยุงถึงกัดเราอยู่คนเดียว?


บางครั้งที่เราอยู่กันเป็นกลุ่มๆ จะสังเกตุได้ว่ายุงจะกัดใครคนใดคนหนึ่งมากกว่าคนอื่น ซึ่งบางครั้งคนๆนั้นก็เป็นเราซะเอง แล้วเคยสงสัยกันบ้างมั้ยคะ ว่าทำไมยุงถึงกัดแต่เราอยู่คนเดียว และนี่คือสาเหตุที่ทำให้เราเป็นที่รักของเหล่ายุงทั้งหลายค่ะ





  • คาร์บอนไดออกไซด์ ยุงจะมีอวัยวะที่เรียกว่า Maxillary pulp ช่วยแสกนระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ออกจากลมหายใจ โดยสามารถจับสัญญาณได้ไกลถึง 164 ฟุต ดังนั้นใครที่ตัวใหญ่ ก็จะปล่อยก๊าซล่อยุงออกมามากกว่า

  • กรุ๊ปเลือด โปรตีนบางชนิดที่ยุงโปรดปรานเป็นพิเศษ คือกรุ๊ปเลือด "O" ทำให้คนกรุ๊ปนี้จะถูกกัดมากกว่าคนกรุ๊ป "A" สองเท่า ส่วนกรุ๊ป "B" จะอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้พบว่ามีคนประมาณ 85% ที่ร่างกายจะหลั่งสารบางชนิดที่บ่งบอกกรุ๊ปเลือดของตัวเองออกมาทางผิวหนังด้วย
  • การออกกำลังกายและเมตาบอลิซึม นอกจากจะตามคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วยุงยังชอบ กรดแลกติก ยูริก แอมโมเนีย หรือสารคัดหลั่งจากเหงื่ออื่นๆอีกด้วย รวมทั้งแสกนความร้อนจากร่างกายอีก ซึ่งการหลั่งสารพวกนี้ในแต่ละคนก็มากน้อยไม่เหมือนกัน จึงทำให้บางคนถูกยุงรุมมากกว่าคนอื่น
  • แบคทีเรียบนผิวหนัง คนเราจะมีแบคทีเรียเจ้าถิ่นหลากหลายชนิดอาศัยอยู่บนผิวหนัง ซึ่งก็มีส่วนในการผลิตกลิ่นที่ยุงสามารถดมได้ แต่ละคนก็จะมีสัดส่วนของชนิดแบคทีเรียบนผิวหนังแตกต่างกันไป และเรื่องน่าแปลกอีกอย่างก็คือ ยุงบางประเภทชอบแบคทีเรียที่เท้าเป็นพิเศษเลยชอบกัดแถวนั้นโดญเฉพาะคนที่มีกลิ่นเท้า แต่ก็มีบางพันธุ์ที่ชอบกัดหัว กัดคอ กัดไหล่ เพราะชอบกลิ่นแถวนั้นมากกว่า

  • เบียร์(แอลกอฮอล์) นักวิจัยญี่ปุ่นให้อาสาสมัครลองซดเบียร์ประมาณขวดเล็ก ปรากฏว่าหลังซดเบียร์เข้าไปยุงจะเข้ามาหามากขึ้น เขาสรุปว่ามันไม่เกี่ยวกับปริมาณแอลกฮอล์ที่ออกมาในเหงื่อหรืออุณภูมิร่างกายที่เพิ่มขึ้นนะ แต่ก็สรุปไม่ได้ว่าทำไมยุงมันชอบคอเหล้าเป็นพิเศษ
  • การตั้งครรภ์ หลายงานวิจัยระบุว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะดึงดูดยุงมากกว่าคนทั่วไปถึงสองเท่า ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับเหตุผลที่ว่า ลมหายใจคุณแม่มีคาร์บอนไดออกไซด์ มากกว่าปกติถึง 21% แถมอุณหภูมิร่างกายคุณแม่จะสูงกว่าคนปกติประมาณ 1.26 องศาฟาเรนไฮต์อีกด้วย
  • สีของเสื้อผ้า นอกจากยุงจะใช้การดมกลิ่นหาเหยื่อแล้ว ยังใช้การมองเห็นอีกด้วย สำหรับสีเสื้อที่เจ้ายุงมันเห็นชัด คือ สีดำ สีน้ำเงินเข้ม สีแดง ถ้ากลัวยุงกัดก็ใส่สีอ่อนๆก็แล้วกันนะคะ
  • พันธุกรรม จากหลายเหตุผลข้างบน นักวิจัยบอกว่าเป็นผลจากพันธุกรรมประมาณ 85% ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรุ๊ปเลือด เมตาบอลิซึม กลิ่นตัว ฯลฯ เคยมีคนลองเอาฝาแฝดมาเทียบกันปรากว่าสามารถดึงดูดยุงได้เท่าๆ
  • ยากันยุงธรรมชาติส่วนบุคคล ไม่น่าเชื่อว่ากลิ่นตัวของคนเรามาจากสารเคมีกว่า 300-400 ชนิดเลยทีเดียว นักวิจัยสงสัยว่าทำไมคนบางคนถึงเป็นที่รังเกียจของเหล่ายุง (ควรดีใจนะ) จริงๆแล้วคนเราทุกคนก็มีสารที่ยุงมันชอบ แต่เป็นไปได้ว่าคนที่ยุงไม่ชอบ อาจมีสารบางชนิดที่ไปบดบังกลิ่นที่ยุงชอบ ทำให้เจ้ายุงมันงง ซึ่งหากพบความลับข้อนี้อาจนำไปสู่การสร้างยากันยุงชนิดใหม่ได้
ข้อมูลเหล่านี้ผ่านการดัดแปลง ดดยมีต้นฉบับมาจาก http://pantip.com/topic/30832624

"ยุง" สัตว์ตัวเล็กที่ก่อความรำคาญให้กับทุกบ้านทั่วโลก

คุณเคยสงสัยหรือไม่ ว่าทำไมยุงถึงชุม ตบเท่าไหร่ก็ไม่หมดสักที
วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับ ไลฟ์สไตล์ของ"ยุง"กันค่ะ

ยุง (Mosquitoes) บนโลกของเรามียุงอยู่หลากหลายชนิด นับคร่าวๆได้ประมาณ 3,500 ชนิด โดยประเทศไทยมียุงอยู่มากถึง 400 ชนิด!! ไม่น่าเชื่อเลยนะคะ ว่ายุงที่เราเห็นมันเหมือนๆกันทุกตัว จะแตกต่างกันถึง 400 ชนิด โดยยุงแต่ละชนิด จะเป็นพาหะนำโรคที่แตกต่างกันไป หลักๆแล้วจะมีอยู่ 4 ชนิด ที่เป็นอันตรายต่อคนค่ะ

  • ยุงก้นปล่อง  เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง
  • ยุงรำคาญ     เป็นพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ โรคเท้าช้าง
  • ยุงลาย          เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ไข้เดงกี โรคเท้าช้าง
  • ยุงเสือ           เป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง

วงจรชีวิตของยุง


วงจรชีวิตของยุงแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัยและสายพันธุ์ โดยหลักๆแล้วสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่

  1. ระยะไข่  ยุงมักจะวางไข่บนผิวน้ำหรือบริเวณชื้น อาจเป็น ไข่เดี่ยวๆ หรือเป็นแพ แล้วแต่ชนิดของยุง โดยระยะไข่จะใช้เวลานานประมาณ 2-3 วัน จึงจะฟักตัวออกเป็นลูกน้ำ
  2. ระยะลูกน้ำ  ในระยะนี้ ลูกน้ำจะกินแบคทีเรียหรือยีสต์ในน้ำเป็นอาหาร และจะลอกคราบทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจะกลายเป็นตัวโม่ง ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม
  3. ระยะตัวโม่ง  ระยะนี้ตัวโม่งจะไม่มีการกินอาหารใดๆ และมีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว โดยใช้ระยะเวลาเพียง 1-3 วันเท่านั้น
  4. ระยะตัวเต็มวัย  ยุงจะมีส่วนประกอบครบทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง พร้อมที่จะบินออกไปสู่โลกกว้าง

ชีวิตประจำวันของยุง


  • อาหาร  ยุงตัวเต็มวัยทั้ง 2 เพศ จะกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้เป็นหลัก แต่ตัวเมียจะต้องใช้เลือดของมนุษย์หรือสัตว์เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของไข่และสร้างพลังงาน
  • การบิน  ยุงบ้านจะบินได้ไม่ไกลมากนัก ประมาณ 30-300 เมตร ยุงลายบินได้ไกลประมาณ 400-600 เมตร แต่ยุงก้นปล่องจะบินได้ไกลถึง 0.5-2.5 กิโลเมตร
  • การผสมพันธ์  ยุงตัวผู้จะลอกคราบก่อนตัวเมียและจะอาศัยอยู่ในแหล่งเพาะพันธุ์เพื่อรอตัวเมีย หลังจากตัวเมียลอกคราบประมาณ 1-2 วัน การผสมพันธุ์จึงเกิดขึ้น หลังจากนั้นยุงตัวเมียจะออกหาแหล่งเลือดเพื่อดูแลไข่ต่อไป
  • อายุ  ยุงตัวผู้มีอายุสั้นเพียง 1 สัปดาห์ ในขณะที่ยุงตัวเมียจะมีอายุได้ถึง 1-5 เดือน
ที่นี้เราก็ได้รู้จักกับ"ยุง" มากขึ้นบ้างแล้วนะคะ คราวหน้าเราจะมาพูดถึงความชอบของยุงแต่ละชนิดกันค่ะ