วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

"ยุง" สัตว์ตัวเล็กที่ก่อความรำคาญให้กับทุกบ้านทั่วโลก

คุณเคยสงสัยหรือไม่ ว่าทำไมยุงถึงชุม ตบเท่าไหร่ก็ไม่หมดสักที
วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับ ไลฟ์สไตล์ของ"ยุง"กันค่ะ

ยุง (Mosquitoes) บนโลกของเรามียุงอยู่หลากหลายชนิด นับคร่าวๆได้ประมาณ 3,500 ชนิด โดยประเทศไทยมียุงอยู่มากถึง 400 ชนิด!! ไม่น่าเชื่อเลยนะคะ ว่ายุงที่เราเห็นมันเหมือนๆกันทุกตัว จะแตกต่างกันถึง 400 ชนิด โดยยุงแต่ละชนิด จะเป็นพาหะนำโรคที่แตกต่างกันไป หลักๆแล้วจะมีอยู่ 4 ชนิด ที่เป็นอันตรายต่อคนค่ะ

  • ยุงก้นปล่อง  เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง
  • ยุงรำคาญ     เป็นพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ โรคเท้าช้าง
  • ยุงลาย          เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ไข้เดงกี โรคเท้าช้าง
  • ยุงเสือ           เป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง

วงจรชีวิตของยุง


วงจรชีวิตของยุงแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัยและสายพันธุ์ โดยหลักๆแล้วสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่

  1. ระยะไข่  ยุงมักจะวางไข่บนผิวน้ำหรือบริเวณชื้น อาจเป็น ไข่เดี่ยวๆ หรือเป็นแพ แล้วแต่ชนิดของยุง โดยระยะไข่จะใช้เวลานานประมาณ 2-3 วัน จึงจะฟักตัวออกเป็นลูกน้ำ
  2. ระยะลูกน้ำ  ในระยะนี้ ลูกน้ำจะกินแบคทีเรียหรือยีสต์ในน้ำเป็นอาหาร และจะลอกคราบทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจะกลายเป็นตัวโม่ง ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม
  3. ระยะตัวโม่ง  ระยะนี้ตัวโม่งจะไม่มีการกินอาหารใดๆ และมีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว โดยใช้ระยะเวลาเพียง 1-3 วันเท่านั้น
  4. ระยะตัวเต็มวัย  ยุงจะมีส่วนประกอบครบทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง พร้อมที่จะบินออกไปสู่โลกกว้าง

ชีวิตประจำวันของยุง


  • อาหาร  ยุงตัวเต็มวัยทั้ง 2 เพศ จะกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้เป็นหลัก แต่ตัวเมียจะต้องใช้เลือดของมนุษย์หรือสัตว์เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของไข่และสร้างพลังงาน
  • การบิน  ยุงบ้านจะบินได้ไม่ไกลมากนัก ประมาณ 30-300 เมตร ยุงลายบินได้ไกลประมาณ 400-600 เมตร แต่ยุงก้นปล่องจะบินได้ไกลถึง 0.5-2.5 กิโลเมตร
  • การผสมพันธ์  ยุงตัวผู้จะลอกคราบก่อนตัวเมียและจะอาศัยอยู่ในแหล่งเพาะพันธุ์เพื่อรอตัวเมีย หลังจากตัวเมียลอกคราบประมาณ 1-2 วัน การผสมพันธุ์จึงเกิดขึ้น หลังจากนั้นยุงตัวเมียจะออกหาแหล่งเลือดเพื่อดูแลไข่ต่อไป
  • อายุ  ยุงตัวผู้มีอายุสั้นเพียง 1 สัปดาห์ ในขณะที่ยุงตัวเมียจะมีอายุได้ถึง 1-5 เดือน
ที่นี้เราก็ได้รู้จักกับ"ยุง" มากขึ้นบ้างแล้วนะคะ คราวหน้าเราจะมาพูดถึงความชอบของยุงแต่ละชนิดกันค่ะ




0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น